อุบัติเหตุ คำนี้เชื่อว่าไม่มีใครอยากได้ยิน ยิ่งถ้าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับลูกน้อยแล้ว หัวใจของคนเป็นแม่ต้องเจ็บปวดไม่แพ้ลูกน้อยแน่ๆเลยค่ะ วัยเตาะแตะที่พูดถึงเป็นวัยที่กำลังหัดเดิน เริ่มเดินได้ ตามพัฒนาการจึงมีความอยากรู้ อยากเห็น อยากลอง อยากจับ อยากเล่น กับสิ่งที่อยู่รอบๆตัว บางครั้งการที่เด็กเกิดอุบัติเหตุบ้างจึงเป็นเรื่องปกติ แต่บางครั้งปู่ย่าตายายไม่เข้าใจถึงการเกิดอุบัติเหตุของหลานก็เป็นเหตุที่ต้องดุด่าคนเป็นพ่อแม่ได้ เราคนเป็นพ่อแม่ก็ไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้น อุบัติเหตุหัวกระแทกพื้นสำหรับเด็กน้อยนั้นเชื่อว่าพ่อแม่บางคนคิดว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ความจริงแล้วหัวกระแทกพื้นของเด็กน้อยนั้นจะเป็นเรื่องปกติหรือเรื่องไม่ปกติ
อุบัติเหตุ ของเด็กเล็ก อันตรายแบบไหน เราลองมาอ่านกัน

1.การตกหัวกระแทกพื้นจากที่สูงมากๆความสูงสูงกว่าตัวเด็ก ซึ่งถือว่าเป็นความสูงที่สูงมาก เด็กตัวเล็กและหัวกะโหลกบางส่วนยังปิดไม่มิด จึงอาจจะทำให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงต่อสมองได้
2.หัวกระแทกกับพื้นที่มีความแข็ง เช่น ลูกน้อยล้มแล้วหัวกระแทกกับพื้นปูนของบ้านหรือขอบถนน นอกจากอาจจะมีแผลแตกแล้ว อาจเกิดเลือดออกในสมองที่เกิดจากการกระแทกของแข็งก็เป็นได้
3.หัวกระแทกกับขอบเหลี่ยมที่แหลมและคม ไม่ว่าจะเป็นขอบเหลี่ยมของตู้ โต๊ะ เก้าอี้ หรืออื่นๆที่เป็นเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน หัวของลูกอาจจะมีแผลฉีกขาดทันที และส่วนมากจะเป็นหัวส่วนหน้าที่จะถูกกระแทก ผลที่อาจเกิดขึ้นตามมาคือ สมองส่วนหน้าของลูกน้อยอาจไดรับการกระทบกระเทือน
4.กระแทกไม่รุนแรงแต่เกิดบาดแผลที่ฉีกขาดลักษณะที่กว้าง ลักษณะแผลที่กว้างไม่สามารถทิ้งไว้ให้แผลกลับมาติดกันเองได้ ควรพาลูกน้อยไปโรงพยาบาลทันทีเพื่อให้หมอทำการเย็บแผล ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้โดยเด็ดขาด จะทำให้แผลนั้นเกิดการติดเชื้อขึ้นมาได้
5.เกิดการกระแทกแล้วมีบาดแผลที่เลือดไหลไม่หยุด เมื่อเลือดไหลไม่หยุด เป็นอาการที่ทำให้เห็นว่า เส้นเลือดเส้นสำคัญอาจจะแตกได้ ควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยการประคบเย็นแล้วพาลูกน้อยพบแพทย์ให้เร็วที่สุด

ลักษณะอาการที่กล่าวมานั้น หัวของลูกกระแทกพื้นแล้วมีอาการค่อนข้างรุนแรงตามที่กล่าวมา จึงถือว่าไม่ใช่เรื่องปกติ เป็นเรื่องผิดปกติที่พ่อแม่ควรพาลูกน้อยไปพบคุณหมอในทันที
หากลูกหัวกระแทกพื้นแล้วอาการโดยรวมปกติดี ไม่มีบาดแผลใด หรือมีบาดแผลภายนอกเล็กน้อยเช่นอาการบวม เขียวซ้ำ พ่อแม่ก็ควรดูแลโดยการประคบเย็น หลังจากประคบเย็น20นาที แล้วก็ประคบอุ่น แผลของลูกที่บวมก็จะค่อยๆยุบลง พ่อแม่ก็ไม่ควรวางใจว่าลูกจะไม่เป็นอะไร อาการหัวกระแทกพื้นของลูกอาจจะแสดงออกภายใน 24 ชั่วโมงด้วย พ่อแม่ก็ควรสังเกตลูกน้อยดังนี้ด้วย ภายในเวลา 24 ชั่วโมง ที่ลูกหัวกระแทก พ่อแม่ควรสังเกตอาการของลูกอย่างใกล้ชิด ไม่ควรปล่อยให้ลูกอยู่ตามลำพัง เพราะบางครั้งลูกอาจเกิดอาการวิงเวียนศีรษะ ทำให้ล้มลงกับพื้นได้ หรืออาจมีอาการอาเจียน ปวดศีรษะ ชักเกร็ง ก็อาจเกิดขึ้นได้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากที่ลูกหัวกระแทกพื้น
การป้องกันไม่ให้ลูกวัยเตาะแตะหัวกระแทกพื้น
- ปูพื้นทำทางสำหรับให้ลูกหัดเดินด้วยพรมหรือหญ้าเทียมที่มีลักษณะที่หนา สามารถป้องกันหัวลูกกระแทกพื้นได้
- ไม่ปล่อยให้ลูกหัดเดินคนเดียวตามลำพัง
- ไม่วางเฟอร์นิเจอร์ไว้ใกล้บริเวณที่ลูกน้อยหัดเดินไปได้ เพราะเฟอร์นิเจอร์บางอย่างมีมุมที่แหลมคม
เมื่อลูกหัวกระแทกพื้นแล้วเมื่อเกิดอาการที่กล่าวมาข้างต้น จึงเป็นเรื่องที่ไม่ปกติ ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์ทันที หากภายใน 24 ชั่วโมงลูกไม่แสดงอาการใดๆที่ผิดปกติ จึงถือว่าลูกปกติดี การที่ลูกหัวกระแทกพื้นจึงถือได้ว่าเป็นบทเรียนของพ่อแม่ที่จะทำให้พ่อแม่ทราบสาเหตุของการที่ลูกหัวกระแทกพื้นและทราบถึงแนวทางการป้องกันไม่ให้ลูกน้อยเกิดอาการหัวกระแทกพื้นขึ้นอีก สิ่งสำคัญเมื่อลูกเกิดอุบัติเหตุจึงเป็นเรื่องของผู้ที่เลี้ยงดูคอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด บางครอบครัวคิดไปเองว่าลูกไม่เป็นอะไรแต่สุดท้ายอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนั้นก็ยากที่จะแก้ไข รักลูกเอาใจใส่ลูกให้มากๆนะคะ เพื่อให้เขามีชีวิตที่ดีและมีความสุข